วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กรรมฐาน คืออะไร ??

กรรมฐาน เป็นคำเรียกโดยรวมในหมวดของการปฏิบัติธรรมประเภทหนึ่งในพระพุทธศาสนา หมวดกรรมฐาน ประกอบด้วย ตัวกรรมฐาน และโยคาวจร

ตัวกรรมฐาน คือ สิ่งที่ถูกเพ่ง ถูกพิจารณา ได้แก่ อารมณ์ต่าง ๆ
ส่วนโยคาวจร คือ ผู้เพ่งหรือผู้พิจารณา ได้แก่ สติสัมปชัญญะและความเพียร

การฝึกกรรมฐานว่าโดยธรรมาธิษฐานจึง หมายถึง การใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาอารมณ์ ที่มากระทบ อย่างระมัดระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้น เพียรหมั่นระลึกถึงกุศลและรักษากุศลนั้นอยู่มิให้เสื่อมไป



หากกล่าวถึง คำว่า กรรมฐาน เราจะเข้าใจกันว่า กรรมฐาน คือ สมาธิหรือการนั่งหลับตาท่องคำซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นการกระทำบางอย่างที่ต่างไปจากพฤติกรรม การให้ทาน การรักษาศีล แต่สำหรับความหมาย ที่มีมาในพระบาลี ตามนัยแห่งมูลฎีกาแสดงวินิจฉัยคำ “กรรมฐาน” ไว้ว่า

กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺส ฐานนฺติ กมฺมฐาน

แปลว่า การงานที่เป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณวิเศษชื่อว่า“กรรมฐาน”

การปฏิบัติกรรมฐาน เป็นการกระทำด้วยความตั้งใจหรือจงใจลักษณะหนึ่ง แต่เป็นไปในฝ่ายกุศลส่วนเดียว เพราะมิได้มีเหตุจูงใจจากความต้องการในกามคุณอารมณ์ การปฏิบัติกรรมฐานจึงไม่ขึ้นกับโลกธรรมและกามคุณดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายพื้นฐาน คือ การอบรมจิตใจให้สงบจากนิวรณ์ธรรม คือ ตัณหา ความคิดมุ่งร้าย ความเกียจคร้าน ความเร่าร้อน ไม่สบายใจ และระแวงสงสัย เป็นต้น จิตที่สงบจากนิวรณ์ธรรมทั้งหลายจักเข้าถึงสภาวะแห่งปัญญาได้ไม่ยากนัก

เนื่องจากจิตต้องอิงอาศัยอารมณ์จึงเกิดขึ้นได้ และธรรมชาติของจิตมีความสัดส่ายไปตามอารมณ์ ไม่อาจหยุดนิ่งเพื่อการพิจารณาแม้เพียงชั่วครู่ จึงจำเป็นต้องใช้อุบายบางอย่าง เพื่อลดความสัดส่าย โดยหาสิ่งที่ไม่เป็นโทษให้จิตอิงอยู่ อุบายที่ว่านี้คือ ที่มาของกิจกรรมที่เรียกว่า กรรมฐาน
 
อุบายดังกล่าวแยกออกเป็น ๒ ประเภท ได้แก่


๑. อุบายสงบใจ กล่าวคือ อาศัยวิธีการท่องถ้อยคำบางอย่างซ้ำ ๆ กัน และบังคับตนเองในลักษณะ การสร้างแนวคิด เกี่ยวกับคำนั้น สิ่งที่เราสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นแนวคิด ความคิด หรือภาพพจน์ของคำ ๆ นั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบของความสงบที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน

๒. อุบายเรื่องปัญญา อาศัยความรู้สึกตัวที่มีอยู่ รู้ถึงการสัมผัสทางทวารทั้ง ๖ รู้ถึงปรากฏการณ์ทางจิต ขณะร่างกายมีการกระทบสิ่งเร้า เฝ้าติดตามการรับรู้นี้ด้วยความตั้งใจ เมื่อมีความตั้งใจอยู่ที่ การรับ กระทบความคิดต่าง ๆ ก็จะถูกตัดออกไป จนไม่สามารถสอดแทรกเข้ามาได้ ไม่เปิดโอกาส ให้มีการก่อตัว ของแนวคิด ภาพลักษณ์หรือความคิดใด ๆ ตามมา เท่ากับเป็นการรู้เท่าทัน กระบวนการที่เกิดขึ้นโดยตรงในทันทีที่เกิดขึ้น จึงไม่เกิดการบิดผันใด ๆ ทางด้านความคิดนี้ คือ ส่วนของกิจกรรมที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน



คำอุทิศส่วนกุศล



คำอุทิศส่วนกุศล

(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)


อิทัง บุญญะผะลัง ผลบุญกุศลใด ที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาดีแล้ว ตั้งแต่ต้นชาติจนถึงปัจจุบัน ข้าพเเจ้า ขอนอมน้อมอุทิศถวายแด่พระรัตนะตรัย อันมีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระธรรม พระอริยะสงฆ์ทั้งหลาย พระอริยะเจ้าทั้งหลาย ตลอดทั้งเทพเจ้าทั้งหลาย ทั่วสากลพิภพ ผู้มีพระคุณทุกท่าน และพระยายมราช ขอทุกท่านทุกพระองค์ จงโปรดโมทนาส่วนกุศลเหล่านี้ และขอจงเป็นสักขีพยาน ในการบำเพ็ญกุศล ของข้าพเจ้าด้วยเทอญ


และข้าพเจ้าขออุทิศกุศลผลบุญเหล่านี้ ให้แก่ เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินมาแล้ว แต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอเจ้ากรรมนายเวณทั้งหลาย จงโมทนา ส่วนกุศลเหล่านี้ และขอจงให้อโหสิกรรม ให้แก่ข้าพเจ้า นับตั้งแต่วันนี้ ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ


และข้าพเจ้าของอุทิศกุศลผลบุญเหล่านี้ ให้แก่ท่านทั้งหลายที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฎะสงสาร ที่เสวยความสุขอยู่ก็ดี เสวยความทุกข์อยู่ก็ดี เป็นญาติก็ดี มิใช่ญาติก็ดี ขอท่านทั้งหลาย จงโมทนาส่วนกุศลเหล่านี้ พึงได้รับประโยชน์ ความสุข เช่นเดียวกับข้าพเจ้า จะพึงได้รับ ณ กาลบัดนี้เทอญ


ผลบุญกุศลใดที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมาดีแล้วตั้งแต่ต้นชาติจนถึงปัจจุบัน ขอจงรวมเป็น ผะละ ปัจจัย ให้ข้าพเจ้า ได้เข้าถึงพระนิพพาน ในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเทอญ หากยังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด ขอคำว่าไม่มี ไม่สำเร็จจงอย่าบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้ามีความคล่องตัวทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยเทอญ

คำสมาทานพระกรรมฐาน



คำสมาทานพระกรรมฐาน


(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

(ผู้นำกล่าว)  หันทะ มะยัง พุทธัสสะ ภะคะวะโต ปุพพะ ภาคะนะมะการัง กาโร มะ เสฯ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ  ( ๓ จบ)

อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจัจชามิ

ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขออาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ กันมา มีหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และ พระเดชพระคุณ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน เป็นที่สุด

ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้า ขึ้นสู่ภาวะพระกรรมฐาน ทั้ง ๔๐ ทัศ พระปีติทั้ง ๕ และวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ ขอพระกรรมฐานทั้ง ๔๐ ทัศ พระปีติทั้ง๕ และวิปัสสนาญาณทั้ง๙ จงมาบังเกิดปรากฏในกายทวาร ในวจีทวาร ในมโนทวาร ของข้าพระพุทธเจ้า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด

ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้าขึ้นสู่ภาวะแห่งเมฆจิต สามารถกำหนดจิต รู้ภาวการณ์ต่าง ๆ
ทั้งเหตุ ผล อดีต อนาคต และปัจจุบัน ได้ทุกขณะจิต ที่ปรารถนาจะรู้ เมื่อรู้แล้วขอให้เห็นภาพนั้นได้ชัดเจนแจ่มใสและพยากรณ์ได้ ตามความเป็นจริงทุกประการ เหตุใดที่จะพึงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้เหตุนั้นได้โดยมิต้องกำหนดจิต แม้แต่ประการใด ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด

 
 


บ้านอิ่มบุญ

บ้านอิ่มบุญ
กลับหน้าหลัก